แผนการควบคุมสารก่อภูมิแพ้ (โปรแกรมการควบคุมผู้ส่งมอบ)
แผนการควบคุมสารก่อภูมิแพ้ (โปรแกรมการควบคุมผู้ส่งมอบ) Allergen Control Plan (Supplier Control Programs) เมื่อมีเหตุการณ์เกี่ยวกับความปลอดภัยของอาหาร (Food Safety Issue) ที่เกิดจากความผิดพลาดในการควบคุมสารก่อภูมิแพ้นั้น สิ่งที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบทางลบทั้งต่อผู้บริโภคและบริษัทผู้ผลิตรวมถึงผู้ประกอบการรายอื่นๆ ในอุตสาหกรรมอาหาร

แผนการควบคุมสารก่อภูมิแพ้ (โปรแกรมการควบคุมผู้ส่งมอบ)

Allergen Control Plan (Supplier Control Programs)

 

เมื่อมีเหตุการณ์เกี่ยวกับความปลอดภัยของอาหาร (Food Safety Issue) ที่เกิดจากความผิดพลาดในการควบคุมสารก่อภูมิแพ้นั้น สิ่งที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบทางลบทั้งต่อผู้บริโภคและบริษัทผู้ผลิตรวมถึงผู้ประกอบการรายอื่นๆ ในอุตสาหกรรมอาหาร

 

ผู้บริโภคที่แพ้อาหาร (Food-allergic Consumer) จะมีพฤติกรรมในการเลือกซื้ออาหารโดยอ่านรายละเอียดบนฉลากผลิตภัณฑ์เพื่อหลีกเลี่ยงส่วนผสมที่ตนเองแพ้ เรียกได้ว่าผู้บริโภคกลุ่มนี้ต้องฝากชีวิตไว้กับความรับผิดชอบของบริษัทผู้ผลิตก็ว่าได้ ดังนั้นการควบคุมสารก่อภูมิแพ้จึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งในการผลิตอาหารที่ปลอดภัย

 

ส่วนหนึ่งของแผนการควบคุมสารก่อภูมิแพ้คือ การควบคุมตั้งแต่ผู้ส่งมอบเพราะถือได้ว่าเป็นต้นทางของส่วนผสมที่นำเข้าสู่กระบวนการผลิตซึ่งส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพและความโปร่งใส (Integrity) ของผลิตภัณฑ์ ดังนั้นจึงควรมั่นใจว่าผู้ส่งมอบมีความสามารถในการบริหารจัดการสารก่อภูมิแพ้ได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นกัน

 

--------------------

 

โปรแกรมการควบคุมผู้ส่งมอบสำหรับส่วนผสมและฉลาก ประกอบด้วยกิจกรรมเหล่านี้...

 

  • ขอดูมาตรการการควบคุมและป้องกันการปนเปื้อนสารก่อภูมิแพ้ของผู้ส่งมอบ

 

  • ขอเอกสารจากผู้ส่งมอบที่ยืนยันว่าส่วนผสมที่ส่งมาไม่มีส่วนประกอบของสารก่อภูมิแพ้ที่ไม่ได้ระบุไว้ (undeclared allergens)

 

  • กรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงชนิดของสารก่อภูมิแพ้ (allergen status) ให้ผู้ส่งมอบแจ้งให้ทราบก่อนทำการเปลี่ยนแปลงใดๆ เพราะอาจส่งผลกระทบกับแผนการควบคุมสารก่อภูมิแพ้ของผู้ผลิตเช่นกัน

 

  • ตรวจประเมิน (audit) ผู้ส่งมอบอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้มั่นใจว่าแผนการควบคุมสารก่อภูมิแพ้มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง

 

  • ผู้ส่งมอบควรมีวิธีปฏิบัติเรื่องการทำความสะอาด (Sanitation Cleaning Procedure) ซึ่งได้รับการพิสูจน์ยืนยัน (Validated) อย่างถูกต้องเหมาะสมโดยเฉพาะเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ โดยการตรวจสอบบนพื้นผิวอุปกรณ์หรือเครื่องจักรที่มีโอกาสปนเปื้อน (Allergen Swab Testing) หรือการส่งผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีสารก่อภูมิแพ้เป็นส่วนประกอบในรุ่นการผลิต (Batch) ถัดไปเพื่อวิเคราะห์สารก่อภูมิแพ้ที่อาจตกค้างจากรุ่นการผลิตก่อนนั้น

 

  • ทำให้มั่นใจว่าส่วนผสมที่มีสารก่อภูมิแพ้ที่ส่งออกไปนั้นได้รับการบ่งชี้อย่างชัดเจนและบรรจุภัณฑ์อยู่ในสภาพดีพร้อมทั้งปิดผนึกอย่างสมบูรณ์

 

  • ส่งแบบสอบถามให้ผู้ส่งมอบประเมินระบบ (Supplier Questionnaire Self – Assessment) ในเรื่อง...
  1. มาตรการควบคุมป้องกันการปนเปื้อนสารก่อภูมิแพ้ในพื้นที่
  2. รายการสารก่อภูมิแพ้ชนิดอื่นๆ ที่ผู้ส่งมอบผลิตโดยเฉพาะที่ใช้เครื่องจักรหรืออุปกรณ์เครื่องมือร่วมกัน (Shared Equipment)
  3. การควบคุมป้องกันการปนเปื้อนระหว่างขนส่ง
  4. โปรแกรมการทำความสะอาดเพื่อกำจัดสารก่อภูมิแพ้ (Allergen Cleaning Program)
  5. บันทึกการอบรมพนักงานในเรื่องที่เกี่ยวกับสารก่อภูมิแพ้

 

--------------------

 

การควบคุมสารก่อภูมิแพ้ตั้งแต่ผู้ส่งมอบนั้น มิใช้การผลักภาระความรับผิดชอบหรือบังคับให้ผู้ส่งมอบปฏิบัติตามเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ การแบ่งปันข้อมูลต่างๆ โดยเฉพาะผู้ส่งมอบที่เป็นบริษัทขนาดเล็ก เพราะแท้จริงแล้วผู้ผลิตและผู้ส่งมอบเปรียบเสมือนน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า ควรร่วมมือเพื่อให้เกิดการพัฒนาร่วมกันไปอย่างต่อเนื่อง

 

---------------------------------------------------

 

เอกสารอ้างอิง: “Components of an Effective Allergen Control Plan: A Framework for Food Processors”

โดย Food Allergen Research & Resource Program (farrp) และ University of Nebraska