การอนุมัติและติดตามผลการดำเนินงานของผู้ให้บริการสำหรับระบบมาตรฐาน BRCGS
การอนุมัติและติดตามผลการดำเนินงานของผู้ให้บริการสำหรับระบบมาตรฐาน BRCGS (Food issue8, clause 3.5.3)

"การอนุมัติและติดตามผลการดำเนินงานของผู้ให้บริการสำหรับระบบมาตรฐาน BRCGS (Food issue8, clause 3.5.3)"

     ผู้ให้บริการ (Supplier of services) ตามความหมายของระบบมาตรฐาน BRCGS หมายถึง supplier ใดๆ ก็ตามที่ให้บริการกับสถานประกอบการ

ซึ่งงานบริการนั้น ๆ อาจส่งผลกระทบกับผลิตภัณฑ์ ทางด้านความปลอดภัย (safety) กฎหมาย (legality) และคุณภาพ (quality) ของผลิตภัณฑ์

ตัวอย่างงานบริการ เช่น

- การควบคุมสัตว์พาหะ

- บริการ ซักอบรีด

- รับเหมาทำความสะอาด

- รับเหมางานบริการและซ่อมบำรุงเครื่องจักร

- ขนส่งและกระจายสินค้า

- จัดเก็บวัตถุดิบ บรรจุภัณฑ์ หรือ ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป

- บริการบรรจุผลิตภัณฑ์

- ห้องปฏิบัติการทดสอบ

- บริการอาหาร

- บริหารจัดการของเสีย

และเนื่องจากงานบริการเหล่านี้อาจส่งผลต่อผลิตภัณฑ์ไม่ด้านใดก็ด้านหนึ่ง ผู้ให้บริการจึงต้องผ่านการอนุมัติและติดตามผลการดำเนินงานเหมือน ๆ กับ supplier ผู้ส่งมอบวัตถุดิบหรือบรรจุภัณฑ์เช่นกัน

-> ประเด็นที่ต้องนำมาพิจารณาเพื่ออนุมัติผู้ให้บริการ ได้แก่

- ความเสี่ยงต่อความปลอดภัยและคุณภาพของผลิตภัณฑ์

- ความสอดคล้องต่อข้อกำหนดทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องเฉพาะเจาะจง

- ความเสี่ยงที่มีนัยสำคัญต่อการรักษาความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ (security of product) ความเสี่ยงนี้ ให้วิเคราะห์หาช่องโหว่ (Vulnerability) และการประเมินการป้องกันอาหาร (Food Defense) จากการเจตนาร้ายต่อองค์กร

* ตัวอย่างการพิจารณา: บริการควบคุมสัตว์พาหะ มีการใช้สารเคมีอันตรายและให้บริการทั้งนอกและในพื้นที่การผลิต จะเห็นได้ว่า ลักษณะของการบริการนี้มีความเสี่ยงเกี่ยวข้องเกือบทุกประเด็นตามที่ได้กล่าวไป ดังนั้นอย่างน้อยผู้ให้บริการควรมีนักกีฏวิทยาที่มีประสบการณ์ มีใบอนุญาตประกอบกิจการและครอบครองวัตถุสารเคมีอันตราย และมีหลักฐานอบรมการใช้สารเคมีกำจัดแมลงสำหรับผู้ทำบริการ เป็นต้น

* ตัวอย่างที่สอง: บริการซักอบรีดเป็นบริการที่ส่งเสื้อผ้าใช้แล้วไปซักอบรีดภายนอก มองเผินๆ เหมือนจะไม่มีความเสี่ยงอะไร แต่เมื่อพิจารณาให้ถี่ถ้วนแล้ว จะพบว่าบริการนี้อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพของผลิตภัณฑ์ เนื่องจากระหว่างการซักอบรีดหรือขนส่งอาจจะมีสิ่งแปลกปลอมติดมากับเสื้อผ้าของพนักงานและหล่นไปปนเปื้อนกับผลิตภัณฑ์ได้

ในส่วนของการประเมินความเสี่ยงและมาตรการควบคุม มาตรฐาน BRCGS Food ไม่ได้กำหนดวิธีไว้แบบตายตัว สถานประกอบสามารถพิจารณาและกำหนดขึ้นมาได้เอง แต่ต้องสามารถอธิบายถึงหลักการได้อย่างสมเหตุสมผลและเหมาะสม

      เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น แอดมินจึงได้ทำตัวอย่างมาตรฐานขั้นต่ำของผู้ให้บริการและหลักเกณฑ์การพิจารณาความเสี่ยงแบบให้คะแนนตามน้ำหนักรวมถึงมาตรการควบคุม…สามารถนำไปใช้ประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับแต่ละสถานประกอบการได้นะคะ 

----------------------------------------------------------------------------------------------------------

อ้างอิง: Global Food Standard for Food Safety Issue8 Interpretation Guideline