Carbon Footprint
ภาวะโลกร้อน (global warming) หมายถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของความเข้มข้นของ “ก๊าซเรือนกระจก (greenhouse gases, GHG)”

ภาวะโลกร้อน (global warming) หมายถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของความเข้มข้นของ “ก๊าซเรือนกระจก (greenhouse gases, GHG)” โดยเมื่อก๊าซเหล่านี้มีการสะสมมากขึ้นในชั้นบรรยากาศรอบผิวโลกจะทำหน้าที่คล้ายเรือนกระจก คือ ยอมให้รังสีดวงอาทิตย์คลื่นสั้น (short-wave radiation) ผ่านเข้ามาในชั้นบรรยากาศได้ แต่เมื่อรังสีดังกล่าวตกกระทบกับพื้นโลกแล้วสะท้อนเป็นรังสีดวงอาทิตย์คลื่นยาว (long-wave radiation) ไม่สามารถแผ่กระจายออกนอกชั้นบรรยากาศได้ ทำให้เกิดการสะสมของความร้อนบริเวณผิวโลก อุณหภูมิของโลกจึงเพิ่มสูงขึ้น

 

จากผลกระทบของภาวะโลกร้อน ทำให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกตื่นตัวในการดำเนินงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร (Carbon Footprint for Organization: CFO หรือ Corporate Carbon Footprint: CCF) เป็นวิธีการประเภทหนึ่งในการแสดงข้อมูลปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยจากการดำเนินงานขององค์กร ซึ่งจะนำไปสู่การกำหนดแนวทางการบริหารจัดการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งในระดับโรงงาน ระดับอุตสาหกรรมและระดับประเทศ

 

มาตรฐานสากลหนึ่งที่ใช้อ้างอิงหรือเป็นแนวทางในการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร คือ มาตรฐาน ISO 14064-1 ซึ่งเป็นมาตรฐานการทวนสอบวัดปริมาณและการรายงานผลการปลดปล่อยและลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกในระดับองค์กร คลอบคลุมข้อกำหนดเรื่อง การออกแบบ การพัฒนา การจัดการ การรายงาน และการทวนสอบบัญชีรายการปลดปล่อยและการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกขององค์กร

 

                สำหรับโพสนี้ แอดมินจะชวนมาทำความรู้จักกับก๊าซเรือนกระจกสำคัญที่ต้องรายงานปริมาณตามมาตรฐาน ISO 14064-1 มีทั้งหมด 6 ชนิด ได้แก่

  1. ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) มีทั้งเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ และจากการกระทำของมนุษย์เช่น ภูเขาไฟระเบิด การหายใจของสิ่งมีชีวิต การเผาไหม้เชื้อเพลิง น้ำมัน ถ่านหิน เป็นต้น
  2. ก๊าซมีเทน (CH4) เป็นก๊าซที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติจากมูลสัตว์เลี้ยง เช่น วัว ควาย การเผาไหม้เชื้อเพลิงถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ หรือการย่อยสลายของซากสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์
  3. ก๊าซไนตรัสออกไซด์ (N2O) เป็นก๊าซที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ได้แก่ ฟ้าผ่า ฟ้าแลบ ภูเขาไฟระเบิด ปฏิกิริยาของจุลินทรีย์ในดิน การใช้ปุ๋ย มูลสัตว์ที่ย่อยสลาย หรืออาจเกิดจากการกระทำของมนุษย์ เช่น การเผาผลาญเชื้อเพลิง อุตสาหกรรมเคมีอุตสาหกรรมพลาสติกบางชนิด การชุบโลหะ เป็นต้น
  4. ก๊าซไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (HFCs) ถูกใช้เป็นตัวทำความเย็น ใช้สำหรับเครื่องปรับอากาศ นอกจากนี้ยังใช้เป็นสารขยายตัวของโฟม ตัวทำละลาย สารสำหรับการดับเพลิง และตัวเร่งละอองของเหลว (แอโรซอล)
  5. ก๊าซเปอร์ฟลูออโรคาร์บอน (PFCs) เป็นผลิตผลพลอยได้ของการหลอมอะลูมิเนียม นอกจากนี้ยังใช้ในการผลิตสารกึ่งตัวนำไฟฟ้า (เซมิคอนดักเตอร์) และใช้แทนสารเคมีที่ทำลายชั้นโอโซนต่างๆ
  6. ก๊าซซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ (SF6) เป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีศักยภาพในการทำให้เกิดโลกร้อนมากที่สุดจากการประเมินของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC)

 

สำหรับองค์กรที่วางแผนขอการรับรองมาตรฐาน ISO 14064-1 หรือต้องการพัฒนาระบบให้ดียิ่งขึ้น รวมถึงเตรียมความพร้อมสำหรับกฎหมายก๊าซเรือนกระจกในอนาคต … ติดต่อหาเรานะคะ แอดมินยินดีให้บริการแนะนำและคำปรึกษาค่ะ